Header

mark

“โรคกรดไหลย้อน” อาการและการรักษา อาการแสบร้อนกลางอกที่ควรรีบรักษาก่อนกลายเป็นเรื้อรัง

22 มีนาคม 2567

avatar เขียนโดย : นพ.ภูวพัศ พิศุทธกุล, อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร, รพ.พิษณุเวช

blog

โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องอย่างเช่น “โรคกรดไหลย้อน” ในปัจจุบันเรามักจะได้ยินผู้คนพูดถึงเรื่องโรคนี้กันบ่อยมากขึ้น ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเนื่องจากเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวมากเป็นโรคที่ใคร ๆ ก็สามารถเป็นได้และพบได้ในคนทุกช่วงอายุตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ หากปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังและรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้

ภาวะกรดไหลย้อน หรือ Gerd เป็นภาวะที่น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร

โรคกรดไหลย้อนคือ ? 

โรคกรดไหลย้อน ในทางการแพทย์ เรียกว่า Gastroesophageal Reflux Disease หรือ GERD เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหารส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้

ภาวะที่มีการไหลย้อนจากกระเพาะอาหารเข้าหลอดอาหารแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

ระดับที่ 1 เป็นระดับที่อ่อนที่สุด คือ เป็นบ้างไม่เป็นบ้าง หรือนาน ๆ เป็นทีแล้วก็หายไป มีภาวะไหลย้อนนิดหน่อย ไม่มีอาการอะไรที่รบกวนสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นความปกติของร่างกาย เรียกว่า ภาวะการไหลย้อนที่กระเพาะอาหาร (Gastroesophageal Reflux – GER)

ระดับที่ 2 คือ เกิดภาวะไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารเฉพาะบริเวณใกล้ ๆ กับกระเพาะอาหาร มีอาการที่รบกวนสุขภาพ อย่างนี้เรียกว่า โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease – GERD)

ระดับที่ 3 คือ เกิดภาวะไหลย้อนที่รุนแรง คือ ไหลเข้าสู่หลอดอาหารย้อนขึ้นมาจนถึงคอ อย่างนี้เรียกว่า โรคน้ำย่อยกระเพาะอาหารไหลย้อนเข้าสู่หลอดคอ (Laryngopharyngeal Reflux – LPR)

อาการจะมีการแสบร้อนกลางอก จุกคอ จุกท้อง อึดอัด

 

สาเหตุของกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนเป็นภัยเงียบที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยสาเหตุหลักๆ ของโรคนี้ก็มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเราและโรคบางชนิดมีส่วนกระตุ้นการทำงานของหลอดอาหารให้เกิดความผิดปกติได้ หรือทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดในปริมาณมากขึ้น เช่น

  • พฤติกรรมกินอาหารที่ทำให้หูรูดถูกกระตุ้นได้ง่าย เช่น อาหารรสจัด เผ็ด เค็ม หมักดอง ของมัน ของทอด อาหารย่อยยาก ทำให้หูรูดปิดลำบาก เกิดการกระตุ้นทำให้เกิดการระคายเคือง หรือหลังรับประทานอาหารแล้วนอนทันที
  • การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม จะไปกระตุ้นการทำงานของกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นจากเดิมที่มีกรดในกระเพาะอาหารในระดับหนึ่งตามปกติของร่างกาย
  • ภาวะอ้วน เนื่องจากคนอ้วนจะมีแรงดันในช่องท้องมาก ทำให้การเคลื่อนตัวของระบบอาหารได้ช้า อาหารแทนที่จะลงจากกระเพาะไปลำไส้ ทำให้เกิดการดีเลย์ ตีกลับขึ้นหลอดอาหาร
  • ภาวะหูรูดหย่อนกว่าคนอื่น เช่น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ในระยะแรกๆ และใกล้คลอด เพราะร่างกายมีการปรับตัวเพื่อรองรับลูก เพราะฉะนั้นในช่องท้องแรงดันจะสูงขึ้น ทำให้หูรูดหลอดอาหารไม่แข็งแรง
  • ความเครียดและพักผ่อนไม่เต็มที่ กรดหลั่งเยอะทำให้มีภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย
  • การตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นความดันในกระเพาะก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์จึงมีเสี่ยงต่อการเป็นกรดไหลย้อนมากขึ้น
  • การรับประทานยาบางชนิด อาจไปกระตุ้นให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน โดยผลข้างเคียงของยาจะส่งผลแตกต่างกันในแต่ละบุคคล หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์  ไม่ควรหยุดยาหรือซื้อยามารับประทานเอง

พฤติกรรมมีผลต่ออาการกรดไหลย้อนมาก เช่ ทานแล้วนอน หรือ แม้กระทั่งความเรียด

 

อาการของกรดไหลย้อน

  • แสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก
  • มีอาการเรอเปรี้ยว มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
  • ท้องอืด แน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย
  • คลื่นไส้ อาเจียน หลังรับประทานอาหาร
  • เจ็บหน้าอก จุก คล้ายเหมือนมีก้อนติดอยู่ในลำคอ
  • หืดหอบ ไอแห้ง ๆ เสียงแหบ
  • เจ็บคอเรื้อรัง

นอกจากอาการข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนบางราย อาจมีอาการแสดงอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไป อาทิ เจ็บหน้าอก ไซนัสอักเสบ เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะต้องตรวจซักประวัติและวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน เช่น การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร การตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร

การรักษา

  1. การปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน
  • วิธีนี้สำคัญที่สุดในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลงป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และลดการกลับมาเป็นซ้ำ โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารและป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปที่คอ และกล่องเสียงมากขึ้น การรักษาโดยวิธีนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ แม้ว่าจะมีอาการดีขึ้นแล้ว หรือหายดีแล้ว โดยไม่ต้องรับประทานยา
  1. การรับประทานยา
  • เพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารหรือเพื่อการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหารในการกำจัดกรดปัจจุบันยาลดกรด เป็นยาที่สามารถยับยั้งการหลั่งกรดได้ดี เห็นผลการรักษาเร็ว การรักษาโรคกรดไหลย้อน ควรรับประทานยาให้สม่ำเสมอตามแพทย์สั่งไม่ควรลดขนาดของยา หรือหยุดยาเอง นอกจากแพทย์แนะนำและควรไปตามที่แพทย์นัดสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ในบางรายอาจใช้เวลานานประมาณ 1–3 เดือนอาการต่างๆจึงจะดีขึ้น สามารถปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวันได้รับประทานยาตอเนื่อง 2–3 เดือน แพทย์จะปรับขนาดยาลงทีละน้อย พบว่าประมาณ 90 % สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา
  1. การผ่าตัด

ส่วนน้อยที่รักษาด้วยวิธีนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นที่คอและกล่องเสียง 

  • การรักษาวิธีนี้จะทำในกรณีอาการรุนแรง ซึ่งให้การรักษาโดยยาอย่างเต็มที่แร้วไม่ดีขึ้นหรือไม่สามารถรับประทานยาที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้ได้และสำหรับในรายที่มีอาการกลับเป็นซ้ำบ่อย ๆ หลังหยุดยา 

 

 โรคกรดไหลย้อนเป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร โดยของที่ไหลย้อนส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหารส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก ส่วนหนึ่งก็มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นการดื่มน้ำอัดลมหรือแอลกอฮอล์ เข้านอนทันทีหลังจากรับประทานอาหาร ทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณอก มีอาการเรอเปรี้ยว มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก จุกเสียด แน่นท้อง 

แม้ว่าโรคกรดไหลย้อนจะดูเป็นโรคที่ดูไม่น่ากลัว แต่หากเป็นบ่อยๆ แล้วปล่อยไว้นานจนเรื้อรัง อาจส่งผลให้หลอดอาหารมีแผล หรือหลอดอาหารตีบ ทำให้บางคนกลืนอาหารลำบาก บ้างก็กลืนแล้วชอบติด หรือบางคนร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารเพราะหลอดอาหารส่วนปลายมีการสัมผัสกับกรดมากเกินไป ทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปรับการตรวจวินิจฉัยและจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

บทความโดย : นพ.ภูวพัศ  พิศุทธกุล, อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร, รพ.พิษณุเวช, ต.ค.66

ข้อมูล ณ ตุลาคม 2566

 

บทความสุขภาพอื่น ๆ

บทความทางการแพทย์

โรค PTSD คืออะไร เกิดจากอะไรได้บ้าง

13 มีนาคม 2567

โรค PTSD คืออะไร เกิดจากอะไร โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ

การเสพข่าวที่มีความหดหู่ สะเทือนอารมณ์มากเกินไป อาจส่งผลเสียกับสภาพจิตใจ จนเสี่ยงเป็นโรค PTSD หรือ โรคที่เกิดความกดดันต่อจิตใจได้ ซึ่งโรคนี้จำเป็นต้องรักษาและเยียวยาอย่างจริงจัง เพื่อช่วยให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติได้ 

บทความทางการแพทย์

วัณโรคภัยร้ายใกล้ตัว

07 พฤศจิกายน 2566

วัณโรค คืออะไร รักษายังไง ภัยร้ายใกล้ตัวที่คุกคามคุณภาพชีวิต

วัณโรคเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายได้ง่ายนับว่าเป็นกลุ่มโรคที่อันตรายร้ายแรงชนิดหนึ่งที่คร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อติดเชื้อจะมีผลต่อปอด หรือที่เรียกว่า "วัณโรคปอด"

บทความทางการแพทย์

การฉีดวัคซีน HPV ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้

28 มีนาคม 2567

‘มะเร็งปากมดลูก’ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของหญิงไทย คัดกรองก่อน ป้องกัน-รักษาได้

มะเร็งปากมดลูก เป็นอีกหนึ่งภัยเงียบอันดับต้น ๆ ที่พรากชีวิตหญิงไทย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคดังกล่าวจะฟังดูอันตราย อีกทั้งยังถูกตรวจวินิจฉัยพบได้บ่อยแต่มะเร็งปากมดลูกมักถูกมองข้ามโดยกลุ่มวัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น