
สัญญาณเตือนโรคร้าย “มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก”
01 พฤศจิกายน 2566

ท้องผูกสลับท้องเสีย อาการที่ดูเหมือนจะปกติแต่รู้หรือไม่!! นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 3 ของคนไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือเมื่อมาพบแพทย์ก็มักพบโรคในระยะที่เป็นมากแล้ว ซึ่งทำให้มีโอกาสการเสียชีวิตสูง ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักกันให้มากขึ้นเพื่อวางแผนการรักษาอย่างทันท่วงที มีโอกาสที่จะรักษาหายขาดสูงขึ้น
ทำความรู้จักกับมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักคือโรคที่พบมากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทุกชนิดและเป็นสาเหตุการตายหนึ่งใน 3 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในคนไทย มักเกิดจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก ที่เรียกว่า โพลิป (Polyp) เป็นเซลล์เนื้อผิดปกติ ที่งอกจากผนังลำไส้ มีขนาดประมาณปลายนิ้วก้อย เนื่องจากขนาดที่เล็กของติ่งเนื้อ จึงทำให้ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติ โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ในการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งลำไส้
ในปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่สิ่งเหล่านี้อาจเป็นบางปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ยิ่งอายุมากยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น มักพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัวนั้นเป็นญาติสายตรงลำดับแรก ได้แก่ พ่อแม่ พี่น้องและบุตร นอกจากปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วก็ยังมีปัจจัยอื่นอีกเช่น การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือประเภทเนื้อแดง ที่ผ่านการปรุงด้วยความร้อนนานๆ มากเกินไป การรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายและมีการตกค้างที่ลำไส้ มักพบสารพิษในอาหารประเภท ปิ้ง ย่าง อาหารหมักดอง และ สารเคมีจากผักที่ไม่สะอาด
แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อให้ประเมินความเสี่ยงและเริ่มทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการผิดปกติ
สังเกตสัณญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย
- ถ่ายเป็นเลือด มูกเลือด หรือ ขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม เช่น อุจจาระออกมาเป็นเม็ดเล็กลง หรือขับถ่ายไม่สุด
- อาการซีด ซึ่งอาจเกิดจากการเสียเลือดเรื้อรัง แม้ไม่มีเลือดในอุจจาระที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
- คลำได้ก้อนที่ท้อง ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็งนูนออกมาบริเวณท้องน้อยด้านขวา
- อาการจุกเสียด แน่น หรือปวดท้องบ่อยๆ
- ปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลา
หากมีอาการเหล่านี้ประมาณ 3 สัปดาห์หรือนานกว่านั้น ควรเข้าพบแพทย์
การตรวจและการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
การสังเกตอุจจาระและการเข้ารับ “การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่” อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ยังไม่มีอาการหรือมีอาการระยะเริ่มต้นมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดได้ สำหรับการตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้ด้วยการตรวจเลือดในอุจจาระ การตรวจลำไส้ใหญ่โดยการสวนแป้งแบเรียมเข้าไปทางทวารหนักและการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
สำหรับการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็ง ระยะของโรค รวมถึงสภาพร่างกายและความพร้อมของผู้ป่วยขณะนั้นว่าเหมาะสมกับวิธีใดมากที่สุด โดยมะเร็งระยะเริ่มต้นสามารถรักษาได้โดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และตัดก้อนเนื้อออก ในรายที่เป็นมากจนมะเร็งเลยชั้นผิวลำไส้ ต้องได้รับการรักษาผ่าตัดซึ่งอาจเป็นแบบส่องกล้องเจาะช่องท้องหรือแบบเปิด และมักต้องมีการรักษาร่วมหลังการผ่าตัด เช่น การใช้ยาเคมีบำบัดหรือ การฉายรังสีรักษา
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หากสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะสามารถรักษาให้หายขาดได้มากขึ้นคอยสังเกตอาการตัวเองว่าปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด ท้องผูกสลับท้องเสีย หรือคลำได้ก้อนหรือไม่ จะช่วยให้ตรวจพบรอบโรคได้ตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือมะเร็งระยะแรก หากพบอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป
บทความโดย : พญ.วีรนุช รัตนเดช อายุรแพทย์โรคมะเร็ง โรงพยาบาลพิษณุเวช
ข้อมูล ณ เดือนกรกฏาคม 2566
บทความสุขภาพอื่น ๆ
บทความทางการแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังการระบาดของไวรัส hMPV แนะวิธีป้องกันตัว
โรคติดเชื้อไวรัส hMPV (Human Metapneumovirus) ซึ่งทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจนั้น พบได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนถึงฤดูหนาว และพบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเชื้อ hMPV สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายจากการไอหรือจาม การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และสัมผัสสารคัดหลั่ง
บทความประชาสัมพันธ์
Digital Hospital พลิกโฉมโรงพยาบาลสู่ยุคดิจิทัล ยกระดับการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกด้านของชีวิต โรงพยาบาลก็ไม่พ้นจากการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน การเกิดขึ้นของ “Digital Hospital” หรือโรงพยาบาลดิจิทัล ไม่ได้เป็นเพียงแค่การนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบสุขภาพ แต่ยังเป็นการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ป่วยและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น
การพัฒนาอย่างยั่งยืน
30 เมษายน 2568
เมื่อดินท้องถิ่นกลายเป็นสัญลักษณ์ของโรงพยาบาล – เรื่องราวของโลโก้ดินเผาที่พริ้นซ์ มุกดาหาร
โรงพยาบาลพริ้นซ์ มุกดาหาร ในเครือพริ้นซ์ (PRINC GROUP) ไม่ได้เป็นเพียงสถานพยาบาลแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงระหว่างสถานพยาบาลกับชุมชนอย่างใกล้ชิดและมีความหมาย