Header

mark

ไวรัส RSV คืออะไร อาการคล้ายไข้หวัด แต่อาจอันตรายมากกว่า

28 มีนาคม 2567

avatar เขียนโดย : นพ.ณัฏฐ์ชยนต์ รัตนตระกูลเดชา,กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ, รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ

blog

ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยเดี๋ยวฝน เดี๋ยวร้อน ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทันทำให้เจ้าตัวน้อยไม่สบายได้ เพราะความชื้นในอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีขึ้น พบโรคติดต่อได้หลายโรค หนึ่งในนั้นคือ    “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV” ที่มักพบในเด็ก โรคชนิดนี้มีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด แต่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้มากกว่า โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ถึงขั้นปอดอักเสบและเสียชีวิตได้

นพ.ณัฏฐ์ชยนต์ รัตนตระกูลเดชา หรือคุณหมอหยก กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ประจำโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ (PRINCIPAL HEALTHCARE)  ได้กล่าวว่าโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) มีสองสายพันธุ์หลัก คือ RSV-A และ RSV-B สามารถป่วยซ้ำได้หลายครั้งเมื่อร่างกายอ่อนแอ โรคนี้มักพบระบาดมากในช่วงฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว (ประมาณเดือนกรกฎาคม–มกราคม) พบมากในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี 

โรคติดเชื้อไวรัส RSV มีสองสายพันธุ์หลัก คือ RSV-A และ RSV-B

 

อาการของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV

เด็กที่ป่วยจะมีอาการเบื้องต้นคล้ายเป็นไข้หวัดธรรมดามีน้ำมูก ไข้ ไอ จาม ส่วนมากอาการมักไม่รุนแรง และหายป่วยได้เองภายใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ในเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ อาจมีอาการรุนแรงจนเป็นหลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบได้ โดยมักมีอาการไข้สูง ไอมีเสมหะมาก ไอมากจนอาเจียน หายใจหอบเหนื่อยจนอกบุ๋ม หายใจแรง หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ด ซึม ตัวเขียว ในบางรายอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาลูกน้อยไปปรึกษากุมารแพทย์

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV มักพบในเด็กช่วงหน้าฝน

 

สาเหตุของการติดเชื้อ RSV

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV เป็นโรคติดต่อเกิดจากการสูดละอองฝอยที่ปนเปื้อนเชื้อผ่านการไอ จาม หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ ผ่านทางตา จมูก ปากหรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อจะเริ่มแสดงอาการได้เร็วที่สุดหลังจากติดเชื้อ 2 วัน ช้าสุดประมาณ 8 วัน โดยส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน สามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วันหลังจากเริ่มมีอาการ ไปจนถึง 3-4 สัปดาห์โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

 

การรักษาและการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV

นพ.ณัฏฐ์ชยนต์ รัตนตระกูลเดชา หรือคุณหมอหยก กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ ได้กล่าวถึงการรักษาและการป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ไว้ว่า สำหรับการตรวจรักษาในผู้ป่วยจะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้นหากพบว่ามีอาการบ่งชี้แพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อไวรัส RSV จากสารคัดหลั่งในจมูก ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมงก็ทราบผล

โดยในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาจำเพาะแพทย์จะดำเนินการรักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น การให้ยาลดไข้ ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะปริมาณมากและเหนียวข้น หรือมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย อาจต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมหรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย รวมถึงทำหัตถการเคาะปอดและดูดเสมหะออก ให้สารน้ำทางน้ำเกลือในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ลดลงหรือไอมีเสมหะมากจนอาเจียน หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนอาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย และในรายที่มีอาการรุนแรงหรือเริ่มมีภาวะหายใจล้มเหลวอาจจะต้องพิจารณาให้ออกซิเจนแรงดันสูงหรือเครื่องช่วยหายใจ

หากมีอาการไม่รุนแรงเบื้องต้นผู้ปกครองสามารถรักษาอยู่ที่บ้านเองได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3-5 วันหรือพบมีอาการรุนแรงดังกล่าวข้างต้น แนะนำให้พาลูกน้อยมาปรึกษากุมารแพทย์ที่โรงพยาบาล สำหรับการป้องกันโรคนี้ทำได้โดยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง สอนให้ลูกน้อยรักความสะอาดล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่แออัดหรือในบริเวณสาธารณะ ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเมื่อมีน้ำมูกคั่ง ทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ



 

บทความโดย : นพ.ณัฏฐ์ชยนต์ รัตนตระกูลเดชา,กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ, รพ.พริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, ส.ค.66

 

ข้อมูล ณ ส.ค.66

 

บทความสุขภาพอื่น ๆ

บทความทางการแพทย์

โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคและภาวะต่าง

29 มีนาคม 2567

‘ความดันโลหิตสูง’ ต้นตอโรคร้าย ตรวจวินิจฉัยพบ ต้องรีบรักษาที่ต้นเหตุ

โรคความดันโลหิตสูงนี้ เป็นต้นตอของโรคร้ายมากมาย ที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพ

บทความทางการแพทย์

โรคอ้วน เป็นแบบไหน เป็นแล้วเสี่ยงหลายโรค เราเป็นโรคอ้วนหรือเปล่า

13 มีนาคม 2567

โรคอ้วน เป็นแบบไหน เป็นแล้วเสี่ยงหลายโรค เราเป็นโรคอ้วนหรือเปล่า?

ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็น “โรคอ้วน” เพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน ที่นั่งเกือบตลอดทั้งวันและไม่ได้ออกกำลัง โรคอ้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาได้

บทความทางการแพทย์

มะเร็งเต้านม

02 พฤศจิกายน 2566

มะเร็งเต้านม

“มะเร็งเต้านม” ภัยเงียบที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1