กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยว่า โรคลมชัก หรือ โรคลมบ้าหมู ซึ่งเป็นอาการชักเกร็ง กระตุก ไม่สามารถควบคุมร่างกาย หรือระมัดระวังตนเองได้ ผู้พบเห็นสามารถให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นโดยการ “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย”
โรคลมชัก หรือ โรคลมบ้าหมู เกิดจากอะไร ?
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า อาการชักเกร็งผิดปกติ อาจเป็นอาการของ “โรคลมชัก” ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อเนื้อสมองสามารถทำให้เกิดอาการชักได้ ซึ่งความผิดปกติดังกล่าว สามารถเกิดขึ้นได้ผ่าน 2 ปัจจัยที่แตกต่างกัน:
- ความผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิดหรือโดยพันธุกรรม เช่น เนื้อสมองเจริญเติบโตผิดปกติ สารเคมีในสมองผิดปกติ พันธุกรรมผิดปกติ
- ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น ความผิดปกติต่อสมองระหว่างตั้งครรภ์ ความผิดปกติต่อสมองระหว่างคลอด อุบัติเหตุทางศีรษะ การติดเชื้อในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง
จะเห็นได้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชักนั้น มีหลากหลาย และสามารถพบได้ในแต่ละช่วงอายุ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะมีโอกาสพบเห็นผู้ป่วย หรือพบคนที่กำลังมีอาการชักได้ทั่วไปในสังคม
ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคลมชักมากกว่า 5 แสนคน และมากกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก
ผู้ป่วยกำลังชัก มีอาการอย่างไร ?
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการของโรคลมชัก ที่คนทั่วไปรู้จักดีที่สุดคือ อาการเกร็งกระตุกทั้งตัว ทั้งนี้อาการชักมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้นกับตำแหน่งของเนื้อสมองที่ผิดปกติ บางคนอาจจะมีอาการเหม่อนิ่ง กระพริบตาถี่ ๆ เป็นระยะเวลาสั้น ๆ บางคนมีอาการเคี้ยวปาก แลบลิ้น ทำปากขมุบขมิบ ขยำมือ ตาเหลือก คอบิด แขนหรือขาเกร็งหรือกระตุกซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย บางครั้งอาจจะมีเสียงพูดแปลกๆ มีอาการตัวอ่อนล้มลงไป มีอาการใจสั่น มีอาการขนลุก เป็นต้น แต่อาการทุกรูปแบบของลมชัก เกินกว่าร้อยละ 90 จะหยุดเองได้ในระยะเวลาไม่เกิน 5 นาที
ความอันตรายที่เกิดขึ้น ขณะผู้ป่วยกำลังชัก
อันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยขณะมีอาการชัก ไม่ได้เกิดจากอาการของโรคลมชักโดยตรง แต่จะเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะที่มีอาการมากกว่า เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่สามารถควบคุมร่างกาย หรือระมัดระวังตนเองได้ ทำให้อาจเกิดอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง ตกคูคลองหนองน้ำ อุบัติเหตุจากการใช้ยานพาหนะ ไฟไหม้น้ำร้อนลวก หรือถูกของมีคมบาด เป็นต้น
เห็นผู้ป่วยกำลังชัก ควรให้ความช่วยเหลืออย่างไร ?
ผู้เห็นเหตุการณ์ควรคอยช่วยเหลือดูแลให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย รวมถึง ไม่งัด ไม่ง้าง ขณะที่คนไข้ชัก จึงเป็นที่มาของการให้การช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการชักว่า “ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง แค่ดูแลให้ชักอย่างปลอดภัย”

อ้างอิง: กรมการแพทย์
หากเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการชักนานเกินกว่า 5 นาที เป็นการชักครั้งแรกในชีวิต หรือมีอาการชักซ้ำหลายรอบ สามารถโทรสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เพื่อแจ้งเหตุ และขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือได้
อ้างอิง: กรมการแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565)