จากการเกิดขึ้นของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ‘โอมิครอน (Omicron)’ ทำให้สถานการณ์การระบาดเริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้ง จนมีผู้ติดเชื้อหลายพันคนต่อวัน เป็นเหตุให้โรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยได้ไม่เพียงพอ ดังนั้นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลเพียงระยะสั้น ๆ แล้วไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานที่รัฐจัดให้ เพื่อให้โอกาสแก่ผู้ที่มีอาการรุนแรงให้ได้รับการรักษาก่อน โดยวันนี้ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซ์ของเรา จะมาชี้แจงข้อมูลสำคัญ สำหรับผู้ที่สามารถกักตัวแยกเพื่อรักษาโควิด-19 ที่บ้าน ว่าควรมีอาการระดับไหน ควรมีที่พักอย่างไร และที่สำคัญ ควรปฏิบัติตัวอย่างไรขณะกักตัวแยกที่บ้าน
Home Isolation คืออะไร
แนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน โดยการให้ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน แต่ต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์ และอยู่ในระบบการตรวจสอบและติดตามอาการของทีมบุคลากรทางการแพทย์ หากมีอาการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่รุนแรงขึ้นก็จะมีการนำส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ใครบ้างที่เข้าเกณฑ์ในการทำ Home Isolation
- เป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่แสดงอาการ
- มีสุขภาพแข็งแรง (อาจมีโรคร่วมที่รักษา ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ ที่สามารถควบคุมได้ตามดุลยพินิจของแพทย์)
- อายุน้อยกว่า 75 ปี
- ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
ใครบ้างที่ต้องทำ Home Isolation
- ผู้ป่วยโควิด-19 ที่วินิจฉัยใหม่ตามเกณฑ์ การวินิจฉัย และแพทย์เห็นว่าสามารถรักษาตัวที่บ้านได้
- ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาล หรือสถานที่ที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 7 วัน และแพทย์พิจารณาว่าสามารถทำ Home Isolation ต่อได้
สถานที่ที่เหมาะสมในการทำ Home Isolation ต้องเป็นอย่างไร?
- มีห้องนอนส่วนตัว หากไม่มี ควรมีพื้นที่กว้างพอที่จะนอนห่างจากผู้อื่นได้ กรณีมีผู้อยู่ร่วมบ้าน
- มีห้องน้ำแยก ถ้าจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย และให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำทุกครั้ง
- ห้องต้องสามารถเปิดประตูหน้าต่างให้ระบายอากาศได้ดี
- ต้องมีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ได้
- สามารถแยกภาชนะและของใช้ส่วนตัวจากผู้ป่วยได้
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อทำ Home Isolation
- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่น ต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างอย่างน้อย 2 เมตร
- งดการออกจากบ้าน
- งดให้ผู้อื่นมาเยี่ยมที่บ้านระหว่างทำ Home Isolation
- งดรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
- ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- แยกห้องพัก ห้องน้ำ และของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น
- แยกซักเสื้อผ้าและเครื่องนอน
สิ่งที่ผู้ป่วยโควิด-19 จะได้รับการสนับสนุนเมื่อต้องทำ Home Isolation
- อาหาร 3 มื้อ
- การติดตามประเมินอาการและให้คำปรึกษาผ่านระบบ Telemed
- อุปกรณ์ประเมินอาการ ได้แก่ ปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
- ยาในแต่ละวัน
สิ่งที่ผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องทำเมื่อทำ Home Isolation
- วัดอุณหภูมิร่างกาย โดยไม่ควรมีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส
- วัดระดับออกซิเจนในเลือด โดยไม่ควรมีค่าน้อยกว่า 94%
- สังเกตตัวเอง หากมีอาการแย่ลง เช่น หายใจหอบ เหนื่อย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลทันที ซึ่งทางโรงพยาบาลจะมีรถไปรับ หรือหากจำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาลด้วยตัวเอง แนะนำให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วยให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ
อ้างอิง:
แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
การจัดบริการ Home Isolation กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข