นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นการเฝ้าระวังโอมิครอน สายพันธุ์ BA.2.75 และการวิเคราะห์สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ว่า ตอนนี้ เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อ พบว่า BA.4 และ BA.5 มีจำนวนมากกว่า BA.2 ไปแล้ว
โดยพบว่า จากการวิเคราะห์สายพันธุ์ 468 คน พบ เป็น BA.4 และ BA.5 จำนวน 320 คน เป็น BA.2 จำนวน 143 คนและ BA.1 จำนวน 5 คน ซึ่งเมื่อสังเกตจากแนวโน้ม การตรวจวินิจฉัยพบ BA.4 และ BA.5 มาจากต่างประเทศ ถึง 86% และในประเทศ 67% ในขณะเดียวกัน พบ BA.4 และ BA.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 80% และในต่างจังหวัด 60% เมื่อแบ่งสัดส่วนระหว่าง BA.4 และ BA.5 จะพบว่า สัดส่วนของ BA.5 มีมากกว่า BA.4 คิดเป็นอัตราส่วน 3 ต่อ 1 หรือคิดเป็น 75% และ 25% ของจำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว
BA.4 และ BA.5 น่าจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น
นพ.ศุภกิจ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการเปรียบเทียบการติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ว่ามีความรุนแรงของอาการเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในระหว่างวันที่ 16 – 22 ก.ค. 65 ในพื้นที่กทม. พบว่าผู้ป่วยไม่มีความรุนแรง 77% อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการรุนแรง พบ อาการปอดบวม ใส่ท่อช่วยหายใจ 84% ฉะนั้นจึงอนุมานได้ว่า BA.4 และ BA.5 น่าจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น และเมื่อมีการตรวจสอบย้อนหลังไปอีก 2 สัปดาห์ พบว่า BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงไม่แตกต่างกัน ส่วน BA.2.75 พบมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง 446 และ 493 ทำให้จับในเซลล์ปอดของมนุษย์มากขึ้น และมีการหลบภูมิคุ้มกัน สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยติดเชื้อ BA.2.75 เพียง 1 คน และทั่วโลกพบ 538 คน ซึ่งต้องมีการจับตาต่อเฝ้าระวังต่อไป
การรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคได้
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนการสำรวจภูมิคุ้มกัน ในผู้ที่รับวัคซีนเข็มกระตุ้น กับ BA.5 ในเลือด พบว่า ทุกสูตร ระดับภูมิคุ้มกันลด แต่การรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังช่วยให้ป้องกันโรคได้อยู่ โดยมีข้อมูลเป็นตัวเลข ดังนี้:
- สูตรซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า ภูมิฯต่อ BA.5 ลดจาก 203.5 เหลือ 89.79
- สูตรซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วย ไฟเซอร์ ภูมิฯต่อ BA.5 ลดจาก 345.8 เหลือ 153.8
- สูตรแอสตร้าฯ 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ ภูมิฯต่อ BA.5 ลดจาก 226.2 เหลือ 86.51
- สูตรซิโนแวค แอสตร้าฯ ตามด้วย แอสตร้าฯ ภูมิฯต่อ BA.5 ลดจาก 84.60 เหลือ 43.60
อ้างอิง: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2565)