เนื่องด้วยวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนมีนาคมถูกกำหนดให้เป็น “วันไตโลก” เครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรณรงค์ และกระจายความรู้ให้คนไทยเกิดความตระหนักในการรักษาสุขภาพและป้องกันโรคไต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต หรือการทำงาน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ โรคไต
“ปัจจุบัน คนไทยเป็นโรคไตเรื้อรังกว่า 11 ล้านคน แต่มีผู้ป่วยเพียง 1.9% เท่านั้น ที่รู้ตัวว่าตนป่วยเป็นโรคไต”
โรคไต เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไต ส่งผลให้การทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย การรักษาความสมดุลของเกลือและน้ำในร่างกาย เกิดภาวะขัดข้อง โดยโรคที่เกิดขึ้นกับไตมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ ไตวายฉับพลัน ไตวายเรื้อรังที่อาจเกิดจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตอักเสบ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่เป็นบ่อย ๆ โรคถุงน้ำที่ไต ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยครั้ง หรือเกิดจากการอุดตัน เช่น จากนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งมดลูกไปกดเบียดท่อไต เป็นต้น ซึ่งเมื่อป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังแล้วการทำงานของไตจะเสื่อมลงจนเข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย และต้องได้รับการฟอกเลือดล้างไตในที่สุด
โรคไต มีอาการอย่างไร ?
ในระยะเริ่มต้น มักจะไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน แต่จะมีอาการเมื่อเป็นมากแล้ว จึงพบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่มีอาการไตเรื้อรังระยะที่รุนแรง ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยและเป็นสัญญาณแจ้งเตือนโรคไต ได้แก่ มีอาการซีด เพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปัสสาวะมีสีหรือกลิ่นผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน ปวดศีรษะ ตรวจพบความดันโลหิตสูง ตัวบวม เท้าบวม ปวดหลัง และปวดบั้นเอว
ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โรคไต มีใครบ้าง ?
ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ควรใส่ใจและตรวจสุขภาพเพื่อดูการทำงานของไตเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีประวัติโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง โรคภูมิคุ้มกันแพ้ภัยตัวเอง เช่น โรคลูปัส (SLE) โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือผู้ป่วยที่รับประทานยาที่อาจส่งผลต่อการทำงานของไต อาทิเช่น กลุ่มยาแก้ปวดชนิด NSAIDs ทานยาสมุนไพร หรือได้รับยาบำบัดทางเคมีบำบัดที่มีผลต่อไต เป็นต้น
โรคไต ป้องกันได้อย่างไร ?
- เลี่ยงอาหารแปรรูป กึ่งสำเร็จรูป อาหารหมักดอง และลดโซเดียม (บริโภคไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน)
- หลีกเลี่ยงยาแก้ปวด ยาชุด สมุนไพร หากมีความจำเป็นต้องใช้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กลุ่มเสี่ยงโรคไต ต้องรักษาและควบคุมโรคให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อป้องกันไตเสื่อม
- รับการตรวจสุขภาพประจำปี คัดกรองโรคไต เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพ หรือเข้ารับการรักษา
อ้างอิง: กรมการแพทย์ (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม 2566)